top of page

แนวคิดในการสร้างพฤติกรรมใหม่ 🌈


เคยไหม ที่ตั้งใจสร้างนิสัยหรือเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ แต่สักพักก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม


อะไรคืออุปสรรคสำคัญภายในตัวคุณ?


มาติดตามขั้นตอนและตัวอย่างเคสที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน


###


กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่


1.ระบุพฤติกรรมเดิมที่ต้องการปรับเปลี่ยน


2.หาตัวจุดชนวน


3.กระตุ้นให้เกิดจุดตัดสินใจ


4.กำหนดกรอบของการตอบสนองใหม่ที่ต้องการ


5.เสริมแรงจูงใจ


6.ฝึกฝน


7.ฉลองความสำเร็จ


###


1.ระบุพฤติกรรมเดิมที่ต้องการปรับเปลี่ยน


เริ่มจากเรื่องเล็กๆง่ายๆก่อนก็จะดีหรือถ้าอยากยกระดับก็หาคนมาช่วยคอมเมนท์ในสิ่งที่ไม่รู้ตัว หรือเข้าเวิร์คช็อปที่สามารถช่วยคุณค้นหา พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึก เช่น จุดบอด


โพสต์นี้ขอยกโจทย์ "ชอบโม้" เป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นแบบแผนทางพฤติกรรม (pattern of behavior) ที่เกิดขึ้นซ้ำ สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่


สำหรับคนที่มี pattern ชอบโม้เหมือนเคสนี้ โพสต์นี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นให้เข้าใจกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น เพราะแต่ละเคสมีความแตกต่างกัน


ส่วนคนที่มีโจทย์อื่นๆในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างของตัวเอง โพสต์นี้อาจเป็นแนวทางในการนำไปปรับใช้ได้


###


2.หาตัวจุดชนวน


สิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมบางอย่าง


ตัวจุดชนวนมักเกิดจาก >> พฤติกรรมหรือคำพูดของใครบางคน/ช่วงเวลา/สถานที่/เหตุการณ์/วิธีคิดหรือความรู้สึกของตัวเอง)


การเดินทางสำรวจภายในจิตใจ เราจะใช้คำถามเพื่อเดินทางเข้าไปทีละชั้น อย่างนุ่มนวล


ถาม: อะไรที่มักกระตุ้นให้คุณโม้ได้? >> (หาตัวจุดชนวน)


ตอบ: เวลาที่อยากให้ใครบางคนเชื่อถือในตัวเรา เห็นความสามารถ เห็นผลงาน / รู้สึกว่าคนๆนั้นเหนือกว่า


###


3.กระตุ้นให้เกิดจุดตัดสินใจ


จุดตัดสินใจ เกิดขึ้นจากการเข้าไปเชื่อมโยงกับบางความรู้สึก เช่น


~ ความรู้สึก pain ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ความจริงบางอย่างที่ไม่เคยรู้ เมื่อรับรู้ได้ถึงสิ่งที่ไม่เคยรู้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการของการยอมรับและเข้าใจ ก็จะลดแรงต้าน พร้อมเปิดประตูสู่การปรับเปลี่ยน


หรือ


~ รู้สึกถึงแรงปรารถนาลึกๆในใจ ใจพองโต เข้าถึงความต้องการที่แท้จริง เลิกผูกมัดตัวเองกับวิธีการเดิมๆที่เคยเรียนรู้มา


ถาม: รู้สึกอย่างไรเวลาที่บอกตัวเองว่า “อยากให้ใครบางคนเชื่อถือในตัวเรา เห็นความสามารถ เห็นผลงาน”?


ตอบ: รู้สึกว่าตัวเองยังทำอะไรได้ไม่ดี (บางคนอาจบอกความรู้สึกของตัวเองยังไม่ค่อยได้ในช่วงแรก)


ถาม: งั้นการที่รู้สึกว่าตัวเองยังทำอะไรได้ไม่ดี เวลาคิดแบบนี้ ในใจรู้สึกอะไร?


ตอบ: รู้สึกผิดหวังและรู้สึกผิด


สร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการเชื่อมโยงกับบางความรู้สึกลึกๆในใจ


ถาม: งั้นลองอยู่กับความรู้สึกผิดหวังและรู้สึกผิดสักครู่ได้ไหม


ตอบ: ได้ครับ


ถาม: ขณะที่จดจ่ออยู่กับความรู้สึกผิดหวังและรู้สึกผิด ลองสังเกตดูนะ ว่าร่างกายมีการตอบสนองอย่างไร?


ตอบ: หัวร้อน ใจเต้นแรง น้ำตาซึม


ถาม: ลองเดาได้ไหม ว่าตอนนี้ร่างกายอยากบอกอะไร?


ตอบ: ไม่รู้เหมือนกัน


สะท้อนบอก: ไม่เป็นไรหรอก ที่เผลอโม้ออกมาบ้าง บางทีอาจมีความจำเป็นบางอย่างเคยเกิดขึ้น ตัวเราถึงเรียนรู้วิธีนี้มา เพื่อให้ใจเราได้รับอะไรบ้างอย่าง


มันโอเคนะที่จะโม้บ้าง เพราะลึกๆในใจตัวเราเองก็อยากให้ใครบางคนรับรู้และบอกว่าภูมิใจในตัวเราที่อดทนและฝ่าฝันอุปสรรคยากๆในชีวิตมาได้


ในตอนนี้ อยากให้ลองรับรู้ว่า “ความรู้สึกภูมิใจในตัวเองไม่ได้เป็นสิ่งผิด”


ในเคสที่เล่าพบว่า


ตัวเราแค่ยอมรับ และเปิดใจทำความเข้าใจถึงแรงผลักดัน


ความไม่มั่นใจ ไม่มั่นคงในความสำเร็จของชีวิตตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่เก่ง เพราะตั้งแต่เด็กไม่เคยมีใครมาบอกว่าจุดไหนที่เรียกว่า “ความสำเร็จ” คือ ที่มาของแรงผลักดันให้เกิดการโม้ในบางสถานการณ์


บางทีตัวเราก็แค่ขาดต้นแบบของความภูมิใจในตัวเองให้ได้เรียนรู้มาปรับใช้กับตัวเอง


พอเห็นคนอื่นทำได้ดีกว่า จิตใจก็สั่นคลอนกับความสำเร็จของตัวเอง เกิดการเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับคนอื่น


###


แต่ละคำตอบ ที่คุณตอบให้ตัวเองได้ยิน จะค่อยๆช่วยเปิดประตูของจิตใจที่ล็อกอยู่ออกทีละบานๆ จนคุณสามารถเข้าถึงความรู้สึกที่ให้ข้อมูลบางอย่างที่คุณไม่เคยรู้


เรียนรู้การหาจุดสมดุลของความขัดแย้งภายในที่เกิดจากการผูกมัดตัวเองกับมุมมองและการรับรู้ในรูปแบบเดิมๆ


รู้จักปรับจูนการฝึกลองมองหลายๆมุม ให้กรอบความคิดเกิดความยืดหยุ่น สามารถไล่เรียงการตีความไปตามข้อเท็จจริง เช่น


ขี้โม้ > โอ้อวด > สร้างภาพ > ให้เครดิตตัวเอง > ผลักดันตัวเอง > เชื่อมั่นในตัวเอง > แบ่งปันประสบการณ์ > ส่งต่อแรงบันดาลใจ


###


บทสนทนาที่เกิดขึ้น ไม่ครบถ้วนนะครับ 😅 ขอสรุปเป็นประเด็นๆให้พอเห็นภาพรวมดังนี้


~อยากให้คนอื่นรู้ถึงความสำเร็จที่ผ่านมา


~อยากเป็นคนสำคัญ


~เมื่อไหร่พ่อแม่จะบอกให้ฉันได้ยินว่า “พ่อแม่ภูมิใจในตัวลูกมากนะ ที่ลูกตั้งใจทำ…….จนประสบความสำเร็จ”


~ถึงแม้ว่าการพูดถึงผลงานของตัวเอง จะทำให้ฉันรู้สึกไม่ดี และกังวลใจว่าคนอื่นจะมองว่าเป็นคนชอบอวด แต่ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้จากประสบการณ์ใหม่ๆ


###


4.กำหนดกรอบของการตอบสนองใหม่ที่ต้องการ


เป็นการกำหนดความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมใหม่ ให้เข้ามาแทนที่วิธีคิด ความรู้สึก พฤติกรรมเดิม


ถาม: งั้นเวลาที่เผลอคิดว่า “ตัวเองยังทำอะไรได้ไม่ดี” อยากให้ตัวเองทำอะไรแตกต่างไปจากการโม้บางมั้ย?


ตอบ: อยากบอกกับตัวเองว่า “ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเราพูดหรอก” และนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนฟัง พูดถึงผลงานของตัวเองตามข้อเท็จจริง


5.เสริมแรงจูงใจ


ด้วยการเชื่อมโยงความรู้สึกใหม่เข้ากับความคิด พฤติกรรมใหม่


ถาม: ลองจินตนาการดูได้ไหม เวลาที่ตอบสนองได้ใหม่ในแบบที่ต้องการได้ ร่างกายเกิดความรู้สึกอะไร?


ตอบ: ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย หายใจง่ายขึ้น


###


6.ฝึกฝน 🏃🏻🏃🏻‍♂️🏃🏻‍♀️


ความเข้าอกเข้าใจถึงแรงผลักดันว่าที่ผ่านมา ทำไมถึงโม้ จะช่วยให้ตัวคุณเห็นใจตัวเอง แล้วลงมือทำสิ่งที่สำคัญ ที่ตัวเองต้องการจริงๆ เช่น


~ใช้เวลาอย่างรู้คุณค่า


~ย้ายมาโฟกัสเห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่มี สิ่งที่เป็นอยู่


~เกิดความรู้สึกขอบคุณตัวเองและคนรอบตัวที่ช่วยซัพพอร์ต


~แบ่งปันผลงานของคุณด้วยความมั่นใจและเชื่อมั่น


~เมื่อผลงานและความสามารถของคุณอยู่ถูกที่ถูกเวลา ลูกค้าที่กำลังตามหาผลงานของคุณ จะได้หาคุณเจอ


###


เคล็ดลับของการสร้างพฤติกรรมใหม่


~หาบัดดี้ เพื่อนสนิทในการร่วมเดินทางเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม


~ ในขั้นตอนที่ 6 ให้มองการฝึกฝนเหมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ หัดสังเกต ตั้งคำถาม และสนุกกับการฝึกฝน ใส่ใจกับความพยายามมากกว่าคาดหวังให้เกิดผลสำเร็จตั้งแต่แรก จะได้ไม่เป็นการกดดันตัวเอง 😅ค่อยๆปรับจูนไป


###


7.ฉลองความสำเร็จ 🎉🎉🎉


เขียน self-reflection ทบทวนการเดินทางภายในของตัวเอง 🌟


ใช้เวลาและความใส่ใจกับคนที่เห็นถึงคุณค่าในผลงานของคุณ เชื่อมั่นในตัวคุณ


###


เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง คือ การปรับเปลี่ยนจากการโต้ตอบต่อสิ่งเร้าโดยอัตโนมัติ (reaction) เป็นการเลือกตอบสนองได้ตามเจตนา (make a choice) ผ่านการฟื้นคืนสมดุลของพลังความคิด ความรู้สึก และพลังงานในร่างกายที่เคยเสียสมดุล


การปรับเปลี่ยนเหมือนการละทิ้งเครื่องมือบางอย่างที่ตัวเราเคยพึ่งพา แต่ตอนนี้ไม่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อทิ้งสิ่งเดิม ก็จะเปิดพื้นที่ให้กับความรู้สึกและเครื่องมือใหม่ที่ช่วยพัฒนาชีวิต


การเปลี่ยนแปลงบางพฤติกรรมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องอาศัยการรับรู้สัมผัสความรู้สึกภายในร่างกาย เปิดใจรับฟังฟีดแบค และให้คำมั่นกับตัวเองในการลงมือทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิม


ปล. การถามคำถามที่ใช่เป็นเรื่องของจังหวะเวลาที่สัมพันธ์กับปฏิกิริยาทางอารมณ์และร่างกายของคนตรงหน้า


275 views0 comments

Recent Posts

See All

คิดด้วยร่างกาย

การรับมือความเครียดในโลกปัจจุบันที่ผันผวนสูง ส่งผลให้สมองแบกรับภาระเกินกำลัง สมองเองมีข้อจำกัด ทั้งทางกายภาพและจิตใจ เช่น...

Comments


bottom of page