top of page

คิดด้วยร่างกาย

Updated: Jan 20

การรับมือความเครียดในโลกปัจจุบันที่ผันผวนสูง ส่งผลให้สมองแบกรับภาระเกินกำลัง


สมองเองมีข้อจำกัด ทั้งทางกายภาพและจิตใจ เช่น ประมวลความคิดได้ลดลงเวลาที่เหนื่อยล้า มีอคติทางความคิด รีบด่วนสรุป และสมองอาจมีปัญหาการทำงานเมื่อเกิดภาวะเครียดเรื้อรังหรือเจ็บป่วย


สมองเองมีจุดอ่อนที่รอการอัพเกรดให้มีตรรกะในการตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ด้วยกรอบความคิดที่ยืดหยุ่นขึ้น


โพสต์นี้จะมาเล่าถึงแนวทางของ “การฝึกคิดด้วยร่างกาย ต้องทำอย่างไร“


.


คิดด้วยร่างกายคืออะไร?


  • การฝึกคิดด้วยความรู้สึกของร่างกาย (body sensation) หรือคำที่มักได้ยินบ่อยๆ คือ “gut feeling”


  • วิธีปรับจูนความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย เพื่อช่วยให้สมองทำงานด้วยเหตุผลได้ดีขึ้น


.


ตัวอย่างที่น่าสนใจจากวารสาร scientific reports พบว่า “เทรดเดอร์ในตลาดหลักทรัพย์ที่รับรู้ความรู้สึกจากอวัยวะภายในร่างกายได้ดีกว่า เป็นคนที่ทำกำไรได้มากกว่า”


.


แต่ละคนมีความไวในการจับสัญญาณความรู้สึกต่างๆ ภายในร่างกายได้ต่างกัน


.


มาทำความรู้จักตัวอย่างความรู้สึกของร่างกาย (body sensation) กัน


ตัวอย่างความรู้สึกของร่างกาย เช่น ใจเต้นแรง หายใจเร็ว กล้ามเนื้อเกร็ง เม้มปาก กลั้นหายใจ ตัวสั่น เหงื่อซึม จุกคอ วูบวาบในท้อง บีบรัดในอก เจ็บซี่โครง ร้อน เย็น คัน หูอื้อ แสบตา รู้สึกเหมือนมีกระแสไฟช็อต


.


การฝึกจับสัญญาณความรู้สึกของร่างกายเหล่านี้ ก็คือการเจริญสติ เป็นวิธีเพิ่มความตระหนักรู้ตัว สามารถฝึกฝนให้เกิดเป็นทักษะติดตัวได้


เมื่อฝึกบ่อยๆ เราจะเริ่มสัมผัสถึงความรู้สึกในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ละเอียดเพิ่มขึ้นทั่วร่างกาย จากที่ไม่เคยเข้าถึงความรู้สึกในบางส่วนของร่างกายมาก่อน


.


ประโยชน์ของการรับรู้ความรู้สึกภายในร่างกายมีอะไรบ้าง?


  • ช่วยรีเซ็ตสมองและร่างกายให้กลับมาสู่โหมดผ่อนคลาย ทำให้เกิดความสมดุลของร่างกายในโหมดตื่นตัวและผ่อนคลาย

  • ทำให้ได้ข้อมูลจากร่างกายที่เป็นเหตุเป็นผลมาช่วยการตัดสินใจ

  • ร่างกายและจิตใจเกิดความยืดหยุ่นในการฟื้นตัวต่อความท้าทายหรือความเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น (stress resilience)

  • ใช้ตรวจสอบและบริหารพลังงานในแต่ละช่วงเวลา ลดการสูญเสียพลังงานที่รั่วไหลไปกับความเครียดส่วนเกิน เช่น ใจเต้นรัวค้างและกลับมาผ่อนคลายได้ยาก เมื่อต้องเผชิญบางสถานการณ์ หรือ อารมณ์ดิ่งแล้วขึ้นยาก

  • มีสติและสมาธิเพิ่มขึ้น

  • ทำให้สามารถรับรู้ความสุขจากประสาทสัมผัสภายในร่างกายได้เต็มที่ ทำให้เกิดสภาวะอารมณ์เชิงบวก

  • ช่วยปรับจูนการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกให้สมดุล ไม่ล่าช้าหรือท่วมท้น


.


แล้วจะฝึกคิดด้วยร่างกายได้อย่างไร?


การจะยกระดับความคิดจากสัญญาณความรู้สึกต่างๆ ภายในร่างกาย ต้องคิดกลับด้านกับคนทั่วไป


เวลาเราเครียด คนทั่วไปจะบอกด้วยความปรารถนาดีว่า “อย่าไปเครียด พยายามผ่อนคลาย อดทน“ หรือ ถ้าเรากังวล คนในครอบครัวก็อาจจะบอกว่า “อย่ากังวลไปเลย ทำใจให้สงบ กังวลไปก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น“ ในบางครั้ง วิธีคิดแบบนี้จะไม่ได้ผลดีนัก


เมื่อมีเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดหรือกังวล การจะรับมือความเครียดให้ดีขึ้น เราต้องให้เวลาและความใส่ใจกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย


ต้องเริ่มสังเกตร่างกาย จับสัญญาณความรู้สึกของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายให้ได้ก่อน แล้วพอเริ่มตรวจจับได้ ก็ให้เวลากับความรู้สึกที่เกิดขึ้น


สัมผัสรับรู้ ตามสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ใจเต้นแรง เหงื่อซึมตามฝ่ามือ วูบวาบในท้อง ตัวสั่น


เราแค่อนุญาตให้ประสบการณ์ทางความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้น และปล่อยให้ร่างกายนำพาไปจนความรู้สึกต่างๆ สงบลง (บางคนอาจรู้สึกโล่ง ตัวเบาสบาย ผ่อนคลาย)


โดยธรรมชาติของร่างกาย ถ้าเราสามารถตรวจจับและบอกชื่อความรู้สึกจากอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายให้ตัวเองได้ยิน


สมองก็จะเกิดการเรียนรู้ใหม่ เพราะสิ่งที่สมองยึดถือมาโดยตลอดคือ อาการใจเต้นแรง เหงื่อซึมตามฝ่ามือ วูบวาบในท้อง ตัวสั่น สมองตีความว่า “กำลังตกอยู่ในอันตราย”


แท้จริงแล้วไม่ได้มีอันตรายที่น่ากลัวเลย เป็นเพียงความคุ้นชินของสมองที่มองเป็นอันตรายทางจิตใจ


เมื่อสมองเลิกยึดติดการตีความรูปแบบเดิม ก็จะสามารถตีความผ่านมุมมองใหม่ๆ ที่ยืดหยุ่น เช่น ปรับเปลี่ยนจาก “ความกังวลใจ เป็น ความตื้นเต้น” สามารถเกิดพฤติกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยให้รับมือความท้าทายได้เต็มศักยภาพ


.


โดยสรุปแล้ว การจะพัฒนาความคิดต้องอาศัยการเชื่อมต่อเข้าหากันระหว่างสมองและความรู้สึกจากอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย


โดยธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนมีความเครียด เพียงตระหนักรู้ว่า


“ความเครียดมีด้านที่เป็นประโยชน์ สามารถช่วยกระตุ้นให้ร่างกายและจิตใจสุขภาพดีได้ ถ้าความเครียดนั้นอยู่ในระดับที่พอเหมาะ”


mindset นี้ จะช่วยให้สมองเปิดรับ สามารถเชื่อมต่อพลังงานความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย และเกิดการตอบสนองในทางบวกจากทั้งสมองและร่างกาย


เมื่อเข้าใจธรรมชาติของความเครียด ร่างกายก็จะตอบสนองต่อความเครียดในทิศทางที่ต่างไปจากเดิม


ทันการรับรู้เมื่อความรู้สึกเริ่มก่อตัวก่อนที่จะรู้สึกท่วมท้นหรือเด้งหนี สามารถควบคุมพลังงานความเครียดให้อยู่ในระดับที่ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์


เมื่อพลังงานความรู้สึกในร่างกายไหลเวียนได้ลื่นไหลสมดุล เราก็จะสามารถผสมผสานความฉลาดของความคิด ความรู้สึก ร่างกายได้ลงตัว




Reference


1. Kandasamy, N, Garfinkel, SN, Page, L et al. Interoceptive Ability Predicts Survival on a London Trading Floor. Scientific Reports; 19 Sept 2016; DOI: 10.1038/srep32986   https://www.nature.com/articles/srep32986

16 views0 comments

Comments


bottom of page