top of page

Emotional Management : Rewire Your Brain For Success

Updated: Mar 1, 2020

สุขภาพแข็งแรง เพียงแค่เข้าใจสมอง


When you change your brain, your mind changes, and when you change your mind, you can change your life.




ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน การเกิดความเครียดสะสมจึงเกิดขึ้นกับผู้คนในวงกว้าง และมีผลกระทบต่อร่างกาย สมอง อารมณ์ พฤติกรรม ความสัมพันธ์ ครอบครัว สังคม ทำให้เกิดการเสียสมดุลในทุกบริบท


การเรียนรู้ถึงอาการ สาเหตุ การรับมือต่อความเครียด และการทำงานของสมอง จะช่วยให้ตัวเรารับมือกับความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์


ความเครียดไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายไปซะทั้งหมด เพราะความเครียดในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้ตัวเราเกิดการพัฒนา และช่วยผลักดันให้เกิดการใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มความสามารถดังรูป


ความเครียดคืออะไร?


เมื่อมีบางเหตุการณ์เกิดขึ้น ร่างกายของเราจะตอบสนองต่อสิ่งที่สมองรับรู้ว่าเป็นอันตราย ทั้งอันตรายที่เกิดขึ้นจริงและอันตรายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ร่างกายจะตอบสนองอย่างรวดเร็วโดยอัตโนมัติ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “Fight or Flight” Reaction หรือที่เรียกว่า “Stress Response”


เมื่อเกิดความเครียด การหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อลดความเครียด (Problem-Focused) และการรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดความเครียด (Emotion-Focused) เป็นสิ่งที่ต้องบริหารจัดการควบคู่กันไป โดยในบทความนี้จะเน้นเฉพาะการทำความเข้าใจถึงการรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดความเครียด


เกิดอะไรขึ้นในร่างกายของเรา เมื่อสมองอยู่ในโหมด “Fight or Flight”


ก่อนอื่นต้องบอกว่าโหมด “Fight or Flight” เป็นเรื่องธรรมชาติและไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย ระบบประสาทของเราพยายามจัดการกับความเครียดต่างๆ ผ่านการหลั่งฮอร์โมน เช่น อะดรีนาลีน และ คอร์ติซอล ทำให้ร่างกายเกิดการตอบสนองโดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้ตัวเราพร้อมที่จะสู้หรือหลีกหนีจากอันตรายตรงหน้าทันที (ปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดของร่างกาย (Body Coping) โดยอัตโนมัติ เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น กล้ามเนื้อหดเกร็ง)


ถ้าสมองไม่ได้รับการฝึกฝนให้แยกแยะระหว่างอันตรายที่เกิดขึ้นจริงและอันตรายจากการคาดเดาที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้ของสมองผ่านประสบการณ์ในอดีต  สมองของเราก็จะตกอยู่ในโหมดฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนคนที่แยกเรื่องจริงกับเรื่องสมมติไม่ออก ทำให้ความรู้สึกปลอดภัย (Sense of Safety) ในสมองหายไป สมองไวต่อสิ่งเร้าจากภายนอก สมองไม่ได้หยุดพัก เกิดเป็นความวิตกกังวลโดยไม่รู้ตัว ส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆของร่างกาย ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อความเครียดผ่านอาการที่หลากหลาย เช่น คลื่นไส้ ปวดหัว เจ็บหน้าอก เจ็บซี่โครง ท้องเสีย ท้องผูก กล้ามเนื้อหดตึง นอนไม่หลับ ติดเชื้อง่าย


ร่างกายของเราสื่อสารและส่งสัญญาณผ่านความรู้สึกทางร่างกาย (Body Sensation) การรับรู้สัมผัสความรู้สึกทางร่างกาย เป็นอีกทักษะในการรับมือกับความเครียด เพราะทุกครั้งที่ตัวเราสามารถรับรู้สัมผัสความรู้สึกทางร่างกายในขณะที่เกิดความเครียด สมองจะเกิดการปรับสมดุลของกระแสประสาทและชีวเคมีในสมอง ผ่านการหลั่งฮอร์โมนที่เป็นประโยชน์ต่อการเผชิญความเครียด เช่น เอ็นโดรฟิน เซโรโทนิน โดพามีน ออกซิโตซิน


แต่ถ้าขาดทักษะในการรับรู้สัมผัสความรู้สึกทางร่างกายเมื่อเกิดความเครียด ร่างกายอาจจะเกิดการปรับตัวจนเสียสมดุล (Maladaptive Coping) เช่น เมื่อเกิดความตึงและเจ็บปวดของกล้ามเนื้อแล้วเราไม่ได้ใส่ใจ สมองจะลดการรับรู้ความตึงและเจ็บปวด ทำให้กล้ามเนื้อหรืออวัยวะส่วนนั้นเคลื่อนไหวได้น้อยจนนำไปสู่การติดยึดและสูญเสียความสามารถในการทำหน้าที่


ขอยกตัวอย่างการรับมือกับอารมณ์ต่างๆ (กังวล เศร้า โกรธ ฯลฯ) ที่ขาดประสิทธิภาพเมื่อเผชิญความเครียดจากเคสที่มารับการโค้ช


  • การหลีกหนี: บางคนใช้การห่างเหินจากสังคม เก็บตัว การผัดวันประกันพรุ่ง การเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบ

  • ลดการรับรู้ความเครียดผ่านการติดอะไรบางอย่าง: กินหรือนอนเกินพอดี Shopping ติดเหล้า ติดบุหรี่ ติด Netflix ติดเกมส์ ติดมือถือ

  • การทำให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจ: เล่นการพนัน ขับรถเร็ว ขโมยของ


แล้วทำไมอารมณ์ถึงเป็นสิ่งที่รับมือและจัดการได้ยาก


  • ขาดทักษะในการเชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย

  • เกิดอารมณ์ความรู้สึกหลายๆอย่างขึ้นพร้อมกันทำให้แยกแยะและรับมือกับอารมณ์ได้ยาก

  • ระบบประสาทอัตโนมัติเสียสมดุลจากการติดค้างอยู่ในโหมดสู้หรือหนี เปรียบเหมือนคนที่ขับรถแล้วเหยียบคันเร่งหรือเบรคไว้ตลอด

  • สมองไวต่อสิ่งเร้าจากสิ่งกระตุ้นภายนอก


สมองและระบบประสาทมีความสามารถในการฟื้นคืนกลับสู่สภาวะสมดุลและปรับตัวได้ตลอดชีวิต (Neuroplasticity) ทั้งในเชิงโครงสร้างและการทำงาน ผ่านการฝึกฝนและทำบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นเซลล์สมองให้เผชิญการเรียนรู้จากประสบการณ์ใหม่ๆที่ท้าทาย  หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต




ขอฝากคำถามทิ้งท้ายเพื่อการ Disrupt สมองของคุณ


เวลามีเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความตึงเครียด จุดไหนในร่างกายที่มักเริ่มต้นสื่อสารกับคุณ?



108 views0 comments

Comments


bottom of page