สมองของคนเรามักจะมองหาและสนใจแต่ข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่สนับสนุนความเชื่อเดิมที่เคยเรียนรู้มาจากประสบการณ์ในอดีต ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ปกติคนเราจะหาชุดความเชื่อในจิตใต้สำนึกที่ทำให้หงุดหงิด อารมณ์เสียของตัวเองไม่เจอ
ถ้าคุณต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชีวิต ให้กลับมาเริ่มต้นใส่ใจการตีความ (Assumptions) ของตัวคุณ ผ่านการสังเกตพฤติกรรมซ้ำๆ ที่สร้างผลกระทบเชิงลบให้ชีวิตคุณ
ถ้าคุณต้องการรู้ว่าตัวคุณพลาดอะไรไปในชีวิต เพราะในชีวิตคนเรายังมี Unknow area ที่ยังรอการค้นพบอีกมาก ตามที่ Joseph Luft และ Harrington Ingham ได้อธิบายไว้ใน Johari Window
ในการโค้ช ผมพบว่า "ความคิดของฉันคือความจริง" เช่น
ฉัน Say No! กับนายไม่ได้
ฉันต้องตอบ Line ของเจ้านายในวันหยุด (ทั้งที่รู้สึกโกรธ)
ชีวิตคือการแข่งขัน
ลูกน้องคนนี้ไว้ใจไม่ได้
ฉันเป็นคนมีเหตุมีผล ไม่ใช้อารมณ์
ความรู้สึกด้านลบเป็นสิ่งที่ไม่ดีและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ความคิดเป็นเพียงแค่การตีความ หรือมุมมองของตัวเรา ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่การตีความอาจมีความซับซ้อนในตัวมันเอง กล่าวคือ มีการตีความซ้อนการตีความ (Underlying Assumption) เช่น
การเป็นหัวหน้า = ผิดไม่ได้
ผิดพลาดในงาน = หมดอนาคตในองค์กรนี้
ถ้ามีอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้น = ตัวเราเสียการควบคุม
หัวหน้าปฏิเสธไอเดียของฉัน = ไม่เชื่อฉัน = หัวหน้าไม่ TRUST ฉัน
ทุกครั้งที่เกิดความตึงเครียดในชีวิต ผมอยากชวนให้ลองถามตัวเองว่า "ตอนนี้ฉันกำลังตีความว่าอะไร?" จะได้เป็นการคอยเตือนให้ตัวเราไม่รีบด่วนสรุป หรือสร้างเงื่อนไข กฎเหล็ก ขึ้นมากักขังชีวิตตัวเอง
ถ้าคุณสามารถถอยห่างออกมาจากสถานการณ์ เพื่อให้ตัวเราเองสามารถฝีกตีความได้หลากหลายมุมมองขึ้น คุณจะสร้างทางเลือกในชีวิตได้เพิ่มขึ้น และทำให้เงื่อนไขแห่งความสำเร็จในชีวิตเป็นจริงตามธรรมชาติของชีวิต
ฝึกที่จะพูดว่า 👉👉👉 "ฉันกำลังตีความว่า......” หรือ “ฉันกำลังคิดว่า.....” หรือ "ฉันกำลังได้ยินว่า...."
การฝึกแบบนี้จะช่วยให้ตัวเรามีเวลาได้หยุดคิด ก่อนที่จะตอบสนองไปตามความคุ้นชิน เช่น ฉันกำลังคิดว่า......“คนอื่นไม่ให้ความสำคัญกับฉัน” (จากเดิมที่จะเริ่มเสียงดังโดยไม่รู้ตัว) คุณก็อาจรู้เนื้อรู้ตัว เลือกตอบสนองอย่างใจเย็น เพราะตระหนักว่า ที่ผ่านมาฉันเล่นใหญ่มาตลอด
คำถามที่ช่วยให้เกิดการขยายการตีความ เช่น
คุณรับมือกับสถานการณ์ต่างๆในชีวิตอย่างไรเวลาที่มีการตีความแบบนี้ ?
คุณรู้สึกอย่างไรเวลาเชื่อฟังการตีความนี้ ?
คุณรู้สึกอย่างไรเวลากบฎต่อการตีความนี้ ?
คุณจะเชื่อว่าคนอื่นเป็นอย่างไรในสายตาคุณ ถ้าคุณตีความแบบนี้ ?
คุณจะเชื่อว่าคนอื่นเป็นอย่างไรในสายตาคุณ ถ้าในหัวคุณไม่มีการตีความแบบเดิมอยู่ ?
อะไรคือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของคุณ ถ้าการตีความแบบเดิมหายไปจากหัวของคุณ ?
อะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตคุณ ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนการตีความแบบเดิมได้ ?
ตีความใหม่ได้มั้ย ?
ฉันสามารถที่จะมองเรื่องนี้ให้แตกต่างไปจากเดิมอย่างไรได้บ้าง ?
เทคนิคสำคัญก่อนถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง คือ การเคลียร์อารมณ์ความรู้สึกในใจให้เบาบางก่อน และอาจปรับคำถามให้เป็นภาษาของคุณเอง
จำไว้ว่า การตีความของคุณ เป็นสิ่งที่ทำใจได้ยากว่ามันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่ถ้าคุณยอมฝืนใจลองถามคำถามเหล่านี้กับตัวคุณเองหรือหาคนที่คุณไว้ใจได้มาช่วยถามคำถามเหล่านี้ ในเวลาที่คุณเผชิญความตึงเครียดในชีวิต ตัวคุณอาจพบแสงสว่างที่นำพาโอกาสแห่งความเป็นไปได้ใหม่ๆในชีวิต
".... for there is nothing either good or bad, but our thinking makes it so."
Hamlet, Act II Scene II
Comentários